สำหรับนักเขียนบทความที่เพิ่งทำงานเขียนระยะแรก อาจจะยังไม่เห็นแนวทางว่าจะเขียนอย่างไรจึงจะขายงานได้หรือเป็นที่พอใจของผู้จ้างงาน ทำให้เกิดอาการเขียนไม่ออก เขียนแล้วสะดุดติดขัดและอ่านแล้วจับใจความไม่ค่อยได้ บทความนี้ของ 1000 Content จึงอยากจะแนะนำเทคนิคง่าย ๆ ในการเขียนบทความที่นำไปใช้ได้ทันที เพื่อให้งานเขียนของท่านลื่นไหล อ่านแล้วรู้เรื่องเข้าใจง่าย เป็นบทความดีมีคุณภาพ
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือคำว่า “ประเด็นรวบยอด” นั่นเอง ใช่แล้วครับ การจะเขียนบทความให้ดีต้องมีประเด็นรวบยอดหรือใจความสำคัญเพียงหนึ่งเดียว เพราะบทความทั่ว ๆ ไปนั้นจะมีความยาวเฉลี่ยที่ 500 คำ ซึ่งก็น้อยเกินไปที่จะกล่าวถึงหลายประเด็น ดังนั้นหนึ่งประเด็นเท่านั้นที่เหมาะสมกับความยาว 500 คำนี้ สำหรับนักเขียนมือใหม่ที่เขียนเรื่องไม่ออก แสดงว่ายังจับประเด็นหรือใจความสำคัญไม่ได้ เช่น ผู้จ้างงานต้องการ Keyword ว่า “อาหารสุนัข” และบอกให้เราคิดเนื้อหาเองได้เลย หน้าที่ของนักเขียนก็ต้องกำหนดประเด็นที่แน่นอนลงไป เพราะถ้าไปเขียนว่าอาหารสุนัขทำมาจากอะไร มีกี่ชนิด เหมาะกับกี่สายพันธุ์ งานของคุณจะเยอะมากและใช้เวลาค้นคว้านาน แต่ถ้าคุณเจาะจงลงไปเลยว่าบทความนี้จะกล่าวถึง “อาหารสุนัข บำรุงขนสวย สำหรับลูกสุนัขพันธุ์โกลเด้นรีทรีฟเวอร์” อย่างนี้แล้วงานเขียนบทความจะง่ายขึ้นมาก
อีกตัวอย่างหนึ่งเช่น คีย์เวิร์ด “บัตรเครดิต” คุณก็ต้องตั้งประเด็นรวบยอดขึ้นมาก่อน แล้วกำหนดมันลงไปในชื่อบทความ เช่น “เทคนิคการสมัครบัตรเครดิตให้ผ่าน” หลังจากมีชื่อบทความแล้วคุณก็สามารถขยายความออกไปจากชื่อบทความได้แล้วและทำให้คุณไม่หลงประเด็นด้วย เพราะถ้าเผลอเขียนอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องก็จะรู้ตัวได้ทันทีว่าไม่ตรงกับหัวเรื่องที่ตั้งไว้ ถ้ามีประเด็นรวบยอดที่ชัดเจน คุณก็จะสามารถทำงานเสร็จได้อย่างรวดเร็ว บางงานเจ้าของกำหนดประเด็นมาให้เลยก็ถือว่าดีเพราะลดเวลาการคิดประเด็นเอง สามารถเริ่มงานเขียนไปตามความต้องการของเจ้าของได้เลย
สรุปขั้นตอนหลักในการเขียนบทความ
- ตั้งประเด็นหลักที่คุณต้องการ จากคีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญที่ได้รับคำสั่งงาน (Order) มา
- กำหนดหัวข้อเรื่องให้ชัดเจน
- เขียนเนื้อหาโดยอ้างอิงกับประเด็นรวบยอดและหัวข้อที่ตั้งไว้ (ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนให้อ่านเนื้อหาโดยค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ เว็บไซต์ วารสาร หนังสือพิมพ์)
- เขียนเสร็จแล้วอ่านทบทวน ลองนึกว่าตัวเองเป็นคนอื่นมาอ่านงานเขียนของใครก็ไม่รู้ แล้วใช้ความรู้สึกที่เป็นกลางตัดสินว่าอ่านแล้วใช้ได้ไหม สื่อใจความสำคัญได้ชัดเจนหรือไม่
- ฝึกฝนและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่มีใครเขียนได้ดีตั้งแต่บทความแรก ๆ แต่ต้องตั้งใจที่จะหาจุดผิดพลาดต่าง ๆ ของตนเองหรือขอคำวิจารณ์จากคนอื่นเพื่อนำไปปรับปรุงให้ดีขึ้น ลองสังเกตงานเขียนอื่น ๆ ของมืออาชีพ แล้ววิเคราะห์โครงสร้างของงานเขียนนั้น จนกระทั่งคุณสามารถนำมาประยุกต์เป็นแนวทางเฉพาะของตัวเองได้ ซึ่งเมื่อคุณฝึกฝนได้ดีแล้วก็จะสามารถสร้างงานเขียนออกมาได้อย่างเป็นธรรมชาติที่คนทั่วไปอ่านแล้วสามารถเข้าใจง่าย